Accessibility Tools

Skip to main content

สวนเกษตร “ส่งเสริมประสาทสัมผัส”

โดย

นายชนกภัทราณัฐ ข้าวหอม

ผู้อำนวยการโรงเรียนการศึกษาเด็กตาบอดพิการซ้ำซ้อน ชะอำ

    การทำสวนเป็นกิจกรรมที่ดีมีคุณค่าและเกิดประโยชน์อย่างมาก เหมาะสมกับคนทุกเพศทุกวัยและทุกสภาพร่างกาย รวมทั้งคนพิการ เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ต้องทำกลางแจ้ง อยู่กับธรรมชาติ (สัมผัสกับแดด ลมและดิน) และมีการเคลื่อนไหวหลายลักษณะ (การขุด/พรวนดิน การปลูก/ดูแลพืชผัก) ซึ่งช่วยส่งเสริมให้มี

สุขภาพร่างกายที่แข็งแรง อดทน (endurance & strength) ผ่อนคลายความเครียด (relaxations) มีความเพลิดเพลินและมีพืชผักผลไม้ซึ่งปลูกเองสำหรับรับประทานในครัวเรือน
    การทำสวนเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่มีความเหมาะสมสำหรับคนตาบอดหรือผู้พิการทางการเห็น เพราะแม้ว่าคนตาบอดจะมองไม่เห็น ซึ่งทำให้คนทั่วไปคิดว่า คนตาบอดไม่อาจชื่นชมกับธรรมชาติหรือพืชผักผลไม้ที่ตนเองปลูกได้ แต่จริงๆแล้วคนตาบอดหรือผู้พิการทางการเห็นยังมีประสาทสัมผัสที่เหลืออย่างอื่นที่ใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการดมกลิ่น ชิมรส กายสัมผัสและการได้ยิน เพราะฉะนั้นหากเราพัฒนาสวนเกษตรที่มีการส่งเสริมด้านประสาทสัมผัส (sensory garden) ที่เหมาะสมแล้วก็จะช่วยกระตุ้นหรือส่งเสริมพัฒนาการด้าน ประสาทสัมผัสที่เหลือให้เกิดประโยชน์สูงสุด
    โรงเรียนการศึกษาเด็กตาบอดพิการซ้ำซ้อน ชะอำ ได้เล็งเห็นว่า สวนเกษตรที่ส่งเสริมด้านประสาทสัมผัส (sensory garden) จะเป็นแหล่งเรียนรู้กลางแจ้ง (outdoor learning space) ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโรงเรียนที่จะช่วยกระตุ้นหรือส่งเสริมพัฒนาการของนักเรียนตาบอดพิการซ้อนได้อย่างรอบด้าน โดยมีแนวทางและข้อควร คำนึงถึง ดังนี้
    การกระตุ้นประสาทสัมผัสด้านการดมกลิ่น การเลือกสรรไม้ดอกที่มีกลิ่นหอม เช่น มะลิซ้อน โมก สายหยุด กระดังงาไทย เป็นต้น โดยจะเน้นต้นดอกไม้ที่ส่งกลิ่นหอมในช่วงกลางวัน นอกจากนี้พืชสมุนไพรอีกหลายชนิดก็น่าสนใจ เช่น ต้นจันทน์กะพ้อ โรสแมรี่ ต้นมินต์ เป็นต้น แต่ควรหลีกเลี่ยงต้นที่มีดอกกลิ่นหอมเข้มข้นมากเกินไป ซึ่งดอกไม้หรือพืชสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมเหล่านี้ จะช่วยทำให้ผู้พิการทางการเห็นรู้สึกผ่อนคลายและมีความสุขเพลิดเพลินกับธรรมชาติรอบตัว
    การส่งเสริมประสาทสัมผัสด้านการได้ยิน การฟังเสียงถือเป็นช่องทางการเรียนรู้ที่สำคัญมากอย่างหนึ่งของผู้พิการทางการเห็น ดังนั้นการรังสรรค์ให้สวนเกษตรมีเสียงที่น่าฟังก็กระตุ้นความสนใจของผู้พิการทางการเห็นได้อย่างวิเศษ เช่น เสียงน้ำพุ น้ำตก ลำธารที่ไหลริน เสียงนกร้อง หรือเสียงลมพัดพุ่มไม้ รวมทั้งเสียงกระดิ่งลม ซึ่งทำให้ผู้พิการทางการเห็นมีความสุข เพลิดเพลิน และช่วยสร้างเสริมจินตนาการได้เป็นอย่างดี
    การส่งเสริมด้านประสาทสัมผัสทางกาย โดยเลือกสรรต้นไม้และพืชที่หลากหลาย รวมทั้งต้นข้าวหลากหลายพันธุ์ ซึ่งจะทำให้ผู้พิการทางการเห็นได้มีโอกาสและประสบการณ์ในการสัมผัสต้น ใบ และผลที่คุ้นเคย นอกจากนี้จะมีการทำแปลงที่ยกขอบเพื่อให้ผู้พิการทางการเห็นได้สัมผัสดินและฝึกการใช้วัสดุอุปกรณ์ทางเกษตรในการปลูกพืชผักสวนครัวที่สามารถนำไปบริโภคได้ การส่งเสริมประสาทสัมผัสด้านการชิมรส โดยการปลูกต้นไม้ขนาดเล็กที่ให้ผล เช่น มะม่วง ฝรั่ง สตรอว์เบอร์รี กล้วย เป็นต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มหรือเติมเต็มประสบการณ์ในการสัมผัส การเก็บผลไม้และชิมรสด้วยตัวเอง
    ข้อพิจารณาที่ต้อง คำนึงถึงมากที่สุดคือ ความปลอดภัยและการเข้าถึง เพราะฉะนั้นจะต้องหลีกเลี่ยงต้นไม้ที่มีหนามหรือมีพิษ ส่วนทางเดินในสวนเกษตรจะต้องมีความกว้างเพียงพอ พื้นไม่ลื่นเวลาเปียกน้ำ และไม่มีสิ่งกีดขวางที่จะทำให้เดินสะดุด นอกจากนี้จะต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสวน เช่น ศาลานั่งพักผ่อน และที่นั่งตามธรรมชาติหลายจุด
    โรงเรียนการศึกษาเด็กตาบอดพิการซ้ำซ้อน ชะอำ เชื่อมั่นว่า สวนเกษตรที่ส่งเสริมด้านประสาทสัมผัส (sensory garden) แห่งนี้จะเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่สำคัญ (learning space) แห่งหนึ่งของโรงเรียน ซึ่งจะส่งเสริมให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ที่แปลกใหม่และหลากหลาย ดังนั้นภายในปีการศึกษา 2566 นี้ โรงเรียนมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสวนเกษตรดังกล่าวขึ้น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่กระตุ้นและเสริมสร้างพัฒนาการของผู้เรียนอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะประสาทสัมผัสทางด้านการดมกลิ่น ชิมรส การสัมผัสและรวมทั้งเพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะและประสบการณ์ต่างๆในการทำสวน (gardening activities) และเพื่อนักเรียนมีสมรรถภาพทางร่างกายและอารมณ์ที่ดี

  • ฮิต: 74