Accessibility Tools

Skip to main content

ความท้าทายในมิติของการพัฒนางานโรงเรียนการศึกษาพิเศษ

โดย

นายสุรเดช สุริยวานิช

รองผู้อำนวยการ โรงเรียนธรรมิกวิทยา

2566 ถือเป็นช่วงเวลาของความท้าทายในแทบทุกวงการที่น่าสนใจและน่าขบคิดโดยเฉพาะในวงการการศึกษา เพราะช่วงเวลาดังกล่าวหากมองย้อนกลับไป โลกของเราเพิ่งจะผ่าน

วิกฤตการณ์ระบาดของเชื้อโควิด ซึ่งนำมาสู่การจัดระเบียบทางการเรียนรู้จากรูปแบบ offline มาสู่ระบบ online นอกจากนี้กฎหมาย กฎระเบียบ และหลักสูตรที่ส่งผลต่อนโยบายทางการศึกษาอีกหลากหลายฉบับก็อยู่ในขั้นของการปรับเปลี่ยน ส่วนหากจะมองในความเป็นปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ การเตรียมเข้าสู่การประกาศใช้กฎระเบียบ หรือหลักสูตรแผนใหม่ทางการศึกษาก็กำลังเคลื่อนใกล้เข้ามา และแน่นอนว่าโรงเรียนการศึกษาพิเศษอย่างโรงเรียน การศึกษาคนตาบอดก็ต้องอยู่ในวังวนของกระบวนการเปลี่ยนผ่านนี้ด้วย
     คำว่า “พิเศษ” แปลว่า แปลก หรือต่างไปจากสามัญ มักใช้ในทางดี (ราชบัณฑิต 2567) ดังนั้น การจัดการศึกษาแบบพิเศษ ก็จะต้องยึดถือหลักการจัดการศึกษาที่เพิ่มเติมขึ้นจากระบบการศึกษาโดยทั่วไป ซึ่งควรต้องสะท้อนในกระบวนการเชิงโครงสร้างในมิติสำคัญประกอบด้วย
    มิติเชิงการบริหาร จัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความเป็นผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนการศึกษาพิเศษที่จะต้อง “กว้างไกล” ใน “ทัศนวิสัย” และ “ลึกซึ้ง” ใน “กระบวนการบริหาร” ที่ “มากเป็นพิเศษ” กล่าวคือ หากเป็นผู้บริหารของโรงเรียนการศึกษาคนตาบอด วิสัยทัศน์และองค์ความรู้ด้านการพัฒนานักเรียนตาบอด ก็จะต้องกว้างและลึกกว่าผู้บริหารของโรงเรียนทั่วไป และยิ่งในยุคที่ คำว่า “ผู้บริหาร” ไม่ได้มีบทบาทเป็นเพียง “ผู้สั่งการ” เท่านั้น แต่ยังต้องทำหน้าที่ “ชี้ภาพ ส่งเสริม และผลักดัน” ให้เกิดการขับเคลื่อนของทุกภาคส่วนในองค์กรด้วย จึงถือเป็นความท้าทายที่ผู้บริหารจะต้องปรับตัวเช่นกัน
    มิติต่อมาคือมิติการเป็นครูของนักเรียน “พิเศษ” ที่เดิมก็จะต้อง “ยึดถือความมีจรรยาบรรณวิชาชีพ” และ “ความเชี่ยวชาญในศาสตร์วิชาชีพ” อย่างเข้มข้นและเข้มแข็ง โดยเฉพาะการดำรงฐานะเป็นครูของนักเรียนตาบอด ที่นอกจากจะต้องดำรงจรรยาบรรณบนฐานของความเป็นคนดีมีศีลธรรมแล้ว ยังต้องมีความรู้และประยุกต์ใช้ความรู้ มีทักษะที่จำเป็นต่อนักเรียนตาบอดและประยุกต์ใช้ทักษะ และมีคุณลักษณะของ “ผู้รักการพัฒนาตนเอง” และส่งต่อแนวคิดดังกล่าวสู่การสร้างคุณลักษณะพื้นฐานให้แก่นักเรียน นอกจากนี้ สิ่งที่ครูของนักเรียนพิเศษจะต้องมีอยู่ในทุก “ห้วงความคิด” คือ การแสวงหาหนทางและสร้างสรรค์หนทางให้นักเรียนตาบอดสามารถ “เรียนรู้ได้และทำได้” ไม่ใช่มีความคิดเพียง “ได้เรียนรู้และแค่ได้ทำ” ซึ่งทั้งหมดนี้ คือ “มาตรฐาน” ที่ท้าทายความสามารถขั้นพื้นฐานของ “ครูของนักเรียนพิเศษ” และมิติสุดท้ายที่จะส่งผลทำให้การศึกษาพิเศษเป็นไปอย่างพิเศษดังนิยามในข้างต้น คือมิติของตัวนักเรียนตาบอดที่ได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ซึ่งจากการเก็บสถิติของแทบทุกสถาบัน ทำให้เราทราบว่า แม้แต่ในปัจจุบันคนตาบอดที่มีโอกาสได้เข้าถึงระบบการศึกษาถือได้ว่ายังมีจำนวนเป็นส่วนน้อยของคนตาบอดในวัยเรียนทั้งหมด ดังนั้น นักเรียนตาบอดที่กำลังอยู่ในการดูแลของโรงเรียนตาบอด จะต้องรู้สึกตนและตระหนักใน “คุณค่าทางโอกาส” ที่ตนได้รับอย่างถ่องแท้ ซึ่งเชื่อได้ว่า หากเราสามารถปลูกฝัง “ความตระหนักรู้เชิงคุณค่า” ให้แก่นักเรียนได้ ความขยัน ความมุ่งมั่นตั้งใจ และการแสวงหา คำตอบให้กับอนาคตของตนเองอย่างมีทิศทางในกลุ่มนักเรียนตาบอดก็จะเกิดตามมา ประเด็นปัญหาเรื่อง “ความสูญเปล่าในการจัดการศึกษา” ก็จะลดลง ซึ่งส่งผลให้เด็กนักเรียนตาบอดของเราสามารถ
    ตอบ คำถามแก่ตนเองและทุกคนในสังคมได้ว่า “เป็นคนตาบอดแล้วจะต้องเรียนไปทำไม” ดัง คำถามที่แฝงด้วยนัยที่ท่านอาจารย์ ดร.ประหยัด ภูหนองโอง ผู้ก่อตั้งมูลนิธิธรรมิกชน ท่านได้พร่ำถามให้ทุกคนในสังคมช่วยกันขบคิดหา คำตอบมาโดยตลอดชีวิตของท่าน
    ดังนั้น ทั้งหมดนี้คือมิติความท้าทายของบุคลากรทุกภาคส่วนที่อาสา มุ่งหวัง และยังมุ่งมั่น ใช้ความ “พิเศษ” มาส่งเสริมและพัฒนาให้นักเรียนตาบอดคนพิเศษ โดยใช้กระบวนการขั้นพิเศษ จากครูที่มีความสามารถพิเศษซึ่งได้รับการส่งเสริมจากผู้บริหารที่มีภาวะผู้นำอย่างเป็นพิเศษ ร่วมกันสร้างความพิเศษเพื่อมอบให้แก่โลกและวงการการศึกษาต่อไป

  • ฮิต: 51