Accessibility Tools

Skip to main content

“สื่อเทคโนโลยี นวัตกรรมสำหรับคนตาบอด”

โดย

นางสาวนารี คงพินิจ

พนักงานผลิตและบริการสื่อ สำนักหอสมุดเบญญาลัย

    เมื่อกล่าวถึงสื่อเทคโนโลยี นวัตกรรมสำหรับคนตาบอด หลายคนคงอยากรู้ว่าคนตาบอดใช้สื่อเทคโนโลยีอย่างไร มีอุปกรณ์เสริมหรือมีโปรแกรมอะไรมาช่วยทำให้คนตาบอดสามารถใช้สื่อเทคโนโลยีได้ การใช้งานคอมพิวเตอร์ไม่ว่าจะเป็นคนตาบอดหรือบุคคลทั่วไปก็ตาม หมายถึงการใช้งานคอมพิวเตอร์ โดยการอ่าน หรือการ

รับรู้ข้อมูลที่ปรากฏบนหน้าจอ หรือปรากฏผ่านอุปกรณ์ต่อพ่วง ด้วยวิธีการป้อน คำสั่ง หรือข้อมูลผ่านอุปกรณ์ Input ผ่านทางแป้นพิมพ์ แม้การมองไม่เห็นตำแหน่งต่างๆบนหน้าจอจะทำให้เกิดอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลก็ตาม แต่คนตาบอดจะใช้การพิมพ์แบบสัมผัส (การจดจำตำแหน่งของแป้นพิมพ์) สำหรับแป้นพิมพ์ที่ใช้จะเป็นแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ทั่วไปโดยไม่ต้องมีการออกแบบเพิ่มเติมหรือดัดแปลงให้มีลักษณะเฉพาะแต่อย่างใด แต่ปัญหาสำคัญมักอยู่ที่การอ่านหรือการรับรู้ข้อมูลที่แสดงผลผ่านหน้าจอ อย่างไรก็ตามปัญหาดังกล่าวข้างต้นได้มีแนวทางช่วยเหลือให้คนตาบอดสามารถเข้าถึงข้อมูลที่แสดงผลผ่านหน้านจอ 3 แนวทางหลักๆ ได้แก่
    1. การใช้ Software ที่ทำให้คอมพิวเตอร์แสดงผลข้อมูลออกมาเป็นเสียงพูดโดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างโปรแกรมอ่านจอภาพ (Screen Reader Software) ซึ่งจะทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลออกมาเป็นเสียงพูดให้คนตาบอดได้ยินเสียงผ่าน Screen Reader ซึ่งแต่ละระบบก็จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปเช่น ระบบปฏิบัติการ Windows ก็จะมี NVDA Screen reader, JAWS for Windows ในระบบปฏิบัติการ Mac-OS ก็จะเรียกว่า Voice-over ในระบบปฏิบัติการ Android ก็จะเรียกว่า Talk-Back เป็นต้น
    ในปัจจุบันนี้ได้มีการพัฒนา Screen Reader Software ให้มีความสามารถในการอ่านเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการวิเคราะห์รูปแบบการอ่านให้เหมาะสม และสอดคล้องกับประเภทของข้อมูล และรูปแบบของ การแสดงผล เช่น การใช้เอไอเข้ามาช่วยอ่านข้อมูลรูปภาพ ข้อมูลที่นำเสนอในรูปแบบของตาราง ซึ่งนอกจาก ข้อมูลที่เป็นตัวอักษรแล้วจะทำให้คนตาบอดสามารถเข้าถึงข้อมูลที่แสดงผลในรูปแบบอื่นด้วย ในขณะที่ Speech Software ก็ได้รับการพัฒนาให้สามารถออกเสียงได้ชัดเจนเหมือนมนุษย์และถูกต้องมากขึ้นด้วยเช่นกัน
    2. การใช้เครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ ซึ่งจะทำหน้าที่แปลงข้อมูลจากตัวพิมพ์ (print) เป็นรหัสอักษรเบรลล์แล้วแสดงผลผ่านเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ (Refreshable Braille Display) ทำให้คนตาบอดสามารถเข้าถึงข้อมูลได้จากการอ่านอักษรเบรลล์ แทนการมองเห็นจากหน้าจอ
    3. การใช้ Software ขยายจอภาพ Screen Magnification Software โดยจะช่วยขยายตัวอักษรตลอดจนรูปภาพและสัญลักษณ์ต่างๆที่ปรากฏบนหน้าจอให้ใหญ่ขึ้นตามขนาดที่ผู้ใช้ต้องการ รวมทั้งมีฟังก์ชันที่ให้ผู้ใช้สามารถปรับสีของหน้าจอ ตลอดจนสีของตัวอักษรและสัญลักษณ์ต่างๆให้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน (Contrast) ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ผู้ที่มีสายตาเลือนราง สามารถอ่านข้อมูลจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้โดยสะดวก
    หากคนตาบอดมีทักษะการใช้สื่อเทคโนโลยี พวกเขาก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถสื่อสารกับบุคคลทั่วไปโดยการอ่าน เขียน ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ สามารถใช้บริการสาธารณะผ่านแพลตฟอร์มได้ เช่น การสั่งซื้อของออนไลน์ แอปธนาคาร และบริการอื่นๆที่รัฐให้บริการพื้นฐาน ทักษะและความรู้เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ คนตาบอดได้รับการศึกษา

  • ฮิต: 87