ประวัติความเป็นมา
วิทยาลัยอาชีวศึกษาคนตาบอดขอนแก่น เดิมชื่อ โรงเรียนการอาชีพคนตาบอดขอนแก่น ตั้งอยู่เลขที่ 192 หมู่ที่ 6 บ้านไก่นา ตำบลสำราญ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เริ่มต้นก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2551 บนที่ดินบริจาคจำนวน 12 ไร่ จากคุณแม่วัชนีย์ คุณพ่อธำรง อินทจักร พร้อมบุตรและธิดา เพื่อเป็นสถานที่ก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอดให้ได้รับการพัฒนาและการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต การส่งเสริมอาชีพ การจัดหางานและให้การดูแลคนตาบอดยากไร้ที่พึ่ง เพื่อให้สอดคล้องแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ พ.ศ. 2550 - 2554
พ.ศ. 2554 มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ขออนุญาตจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็น “โรงเรียนการอาชีพคนตาบอดขอนแก่น” (ยังไม่เปิดทำการเรียนการสอน)โดยได้รับอนุญาตจัดตั้งขึ้นเป็นสถานศึกษาเอกชน เพื่อการกุศลจัดการเรียนการสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 1 - 3 ประเภทอาชีวศึกษา (การศึกษาพิเศษ) วิชาที่สอนหรือประเภทวิชาที่สอน วิชาพาณิชยกรรม สาขาพาณิชยการ การสาขางานสำนักงานสำหรับผู้พิการทางสายตา ตั้งแต่วันที่ 1 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554
พ.ศ. 2557 เปิดทำการเรียนการสอนโดยใช้ชื่อ “ โรงเรียนการอาชีพคนตาบอดขอนแก่น” เปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 1 - 3 ประเภทแผนกวิชาพาณิชยกรรม สาขาวิชาพาณิชยการ สาขางานสำนักงานสำหรับผู้พิการทางสายตา และมีนักศึกษารุ่นแรกจำนวน 16 คน
พ.ศ. 2560 ได้รับอนุญาตให้เพิ่มหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพพุทธศักราช 2556 ประเภทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ และเปลี่ยนชื่อเดิมจาก “โรงเรียนการอาชีพคนตาบอดขอนแก่น” เป็น “วิทยาลัยอาชีวศึกษาคนตาบอดขอนแก่น”
พ.ศ. 2563 ได้รับอนุญาตให้เพิ่มหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงพุทธศักราช 2563 ประเภทวิชาอุตสาหกรรมบันเทิงและดนตรี สาขาวิชาดนตรีและเทคโนโลยี ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป
ปัจจุบัน วิทยาลัยอาชีวศึกษาคนตาบอดขอนแก่น จัดการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น ในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) รายละเอียดดังนี้
1. หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประเภทวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ
2. หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประเภทวิชาอุตสาหกรรมบันเทิงและดนตรีสาขาวิชาการดนตรี
3. หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ประเภทวิชาอุตสาหกรรมบันเทิงและดนตรี สาขาวิชาดนตรีและเทคโนโลยี