Accessibility Tools

Skip to main content

ประวัติความเป็นมามูลนิธิธรรมิกชน

ณะ บ้านเช่าครึ่งหลังในซอยธารทิพย์ ถนนประชาสโมสร ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ. 2521 คือจุดเริ่มต้นของมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่บ้านหลังนี้ นายประหยัด ภูหนองโอง บัณฑิตตาบอด ได้เริ่มงานการสอนหนังสือเด็กตาบอดจำนวน 13 คน ด้วยเงินช่วยเหลือจำนวน 10,082 บาท จากมิสซิสโรส ลิม (Mrs. Rose Lim) สุภาพสตรีชาวสิงคโปร์ เพื่อเป็นทุนเริ่มต้นในการจัดตั้ง “สถานคริสเตียนสงเคราะห์การศึกษาคนตาบอด” โดยมีนายเฉลิมชัย จิตตะยโศธร และบรรดามิชชันนารีเป็นคณะกรรมการ การจัดตั้งในครั้งนั้นไม่ได้จดทะเบียนเพราะเห็นว่าเป็นการสงเคราะห์ ต่อมามูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยได้บริจาคเตียงนอนจำนวน 12 หลัง บ้านแห่งนี้เป็นสถานที่สอนหนังสือ และที่พักอาศัยของเด็กตาบอด มีคนกลุ่มหนึ่งเล็กๆ 2-3 คนที่มาร่วมสานฝันกับ นายประหยัด ภูหนองโอง การเรียนการสอนในบ้านหลังนี้เน้นการเตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ ด้วยมุ่งหมายที่จะให้เด็กตาบอดเหล่านั้นสามารถช่วยเหลือตนเองได้ในชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้ในการอ่านหนังสือและการเขียนอักษรเบรลล์ก่อนที่จะเข้ารับการศึกษาภาคบังคับในโรงเรียนทั่วไป บ้านหลังนี้ได้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการนำพาความเมตตา ห่วงใยของผู้คนในสังคมมาสู่เด็กตาบอด รวมทั้งเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระแสความคิดในสังคมที่มีต่อคนตาบอดอีกด้วย
ปี 2522 เด็กตาบอดจำนวน 3 คน ได้รับโอกาสเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนขอนแก่นคริสเตียน ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนสนามบินซึ่งเป็นโรงเรียนของรัฐ
ปี พ.ศ. 2523 นายบุรินทร์ บุริสตระกูล มอบที่ดินจำนวน 8.5 ไร่ ที่ถนนประชารักษ์ ตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ต่อมาสมาชิกคริสตจักรสุขุมวิท ซอย 10 กรุงเทพมหานคร ก็ได้ร่วมกันบริจาคทุนทรัพย์เพื่อซื้อที่ดินเพิ่มอีก 3.5 ไร่ รวมแล้วมีพื้นที่ 12 ไร่ ทั้งนี้ผู้คนที่รับรู้ข่าวสารทั้งในจังหวัดขอนแก่นและต่างจังหวัดได้สมทบทุนเพิ่มด้วย
ปี พ.ศ. 2524 หน่วยงานการกุศลของเยอรมนีได้ก่อสร้างอาคารเรียน หลังแรกให้เพื่อจัดตั้งศูนย์พัฒนาการศึกษาคนตาบอดขอนแก่น ปัจจุบันคือสำนักงานมูลนิธิสาขาจังหวัดขอนแก่นและโรงเรียนการศึกษาคนตาบอด ขอนแก่น ซึ่งเป็นโรงเรียนแห่งแรกของมูลนิธิ เปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่อนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ 6 และดูแลนักเรียนเรียนร่วมในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง เป็นโรงเรียนประจำ ไม่เก็บค่าธรรมเนียมการศึกษา
ปี พ.ศ. 2526 ได้รับอนุมัติการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายเป็น มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย
ปี พ.ศ. 2527 ในเดือนมิถุนายน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงรับมูลนิธิไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “มูลนิธิ ธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” นำมาซึ่งความปีติแก่คน ตาบอดทั่วไปและมูลนิธิ
ปี พ.ศ. 2528 ในวันที่ 24 ตุลาคม เยาวชนตาบอดจำนวน 40 คน จากศูนย์พัฒนศึกษาคนตาบอดขอนแก่นจัดกิจกรรมเดินทางไกลการกุศล “ยังไม่สิ้นซึ่งความหวัง” ขอนแก่น-กรุงเทพฯ ระยะทางประมาณ 450 กิโลเมตร เป็นเวลา 10 วัน เพื่อระดมทุนจัดตั้งสถานสงเคราะห์คนตาบอดผู้พิการซ้ำซ้อน กิจกรรมดังกล่าว มีผู้มีจิตศรัทธาร่วมสมทบทุนจำนวนหนึ่ง
ปี พ.ศ. 2529 จัดตั้งสถานสงเคราะห์คนตาบอดผู้พิการซ้ำซ้อนขึ้น ณ เลขที่ 21/13 ซอยรามอินทรา 34 แยก 19 (ซอยอยู่เย็น) ถนนรามอินทรา แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร โดยได้งบประมาณจากกิจกรรมเดินทางไกล องค์การซีบีเอ็ม (CHRISTOFFEL BLINDEN MISSION: CBM) ซึ่งช่วยรวบรวมปัจจัยทุนทรัพย์จากชาวเยอรมันเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคาร จัดซื้ออุปกรณ์ และสมทบทุนดำเนินการเป็นระยะเวลา 10 ปี นอกจากนี้ ยังมีโครงการฮิลตันเพอร์กินส์ของโรงเรียนสอนคนตาบอดฮิลตันเพอร์กินส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา (Hilton Perkins International) มาให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการและฝึกอบรมบุคลากร ทำงานพัฒนาเด็กตาบอดพิการซ้ำซ้อน ปัจจุบันเป็นสำนักงานมูลนิธิ สาขากรุงเทพมหานครและโรงเรียนบ้านเด็กรามอินทรา เปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2552 จัดการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนตาบอดพิการซ้ำซ้อน ตั้งแต่ระดับอนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นโรงเรียนประจำ ไม่เก็บค่าธรรมเนียมการศึกษา
5 กรกฎาคม 2565 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารอเนกประสงค์ ณ โรงเรียนบ้านเด็กรามอินทรา ยังความปลื้มปีติยินดี แก่คณะกรรมการ ผู้บริหาร พนักงานตลอดจนนักเรียนนักศึกษา ตาบอดทุกคน
ปี พ.ศ. 2529 มูลนิธิ ได้จัดตั้งโครงการผลิตสื่อการเรียนการสอนเพื่อรองรับและส่งเสริมศักยภาพการเรียนการสอนสำหรับคนตาบอด เนื่องจากที่ผ่านมามูลนิธิประสบปัญหาขาดแคลนสื่อ อุปกรณ์การเรียน และบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านการผลิตสื่อ
ต่อมา พ.ศ. 2535 ได้จัดตั้งศูนย์ผลิตและบริการสื่อการเรียนการสอน เพื่อบริการสื่อให้แก่นักเรียนในโครงการเรียนร่วม โดยการสนับสนุนของรัฐบาลแคนาดา ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2545 ศูนย์ผลิตและบริการสื่อการเรียนการสอน ได้รับการยกระดับเป็นศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาคนตาบอด (Educational Technology Center for the Blind: ETCB) โดยจัดตั้งขึ้นในพื้นที่สำนักงานสาขาจังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้นำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาส่งเสริมการผลิตและบริการสื่อการเรียนการสอนสำหรับคนตาบอด ภารกิจ คือ การผลิตสื่อการเรียนการสอน อาทิ สื่ออักษรเบรลล์ สื่อภาพนูน สื่อเสียงระบบดิจิทัล และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การบริการสื่อ การเรียนการสอน การซ่อมบำรุง และการอบรมแนะนำการใช้อุปกรณ์ สื่อ สิ่งอำนวยความสะดวก และเทคโนโลยีต่างๆ สำหรับคนตาบอด ตลอดจนการจัดทำโครงการอันเกี่ยวเนื่องกับการผลิตและบริการสื่อการเรียนการสอน
ในวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ได้ทำพิธีเปิดและส่งมอบอาคารศูนย์ เทคโนโลยีการศึกษาคนตาบอด ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการ สร้างจาก โครงการจีจีพี สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยให้เป็นอาคารดำเนินงานด้านผลิตและบริการสื่อการเรียนการสอน
ปี พ.ศ. 2530 เริ่มต้นงานฟื้นฟูสมรรถภาพคนตาบอดในชนบท (Community Base Rehabilitation: CBR) ที่จังหวัดมหาสารคาม ตามแนวคิดที่ว่าชุมชนเป็นฐาน บ้านเป็นหลัก อาสาสมัครเป็นแรงเสริม คนตาบอดเป็นศูนย์กลาง บนฐานคิดที่ใช้ชุมชนเป็นฐานในการฟื้นฟูโดย CBR ให้ความช่วยเหลือคนตาบอดและผู้พิการในชนบท ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย การฝึกอาชีพ การกระตุ้นพัฒนาการของเด็กตาบอดก่อนวัยเรียน การอบรมผู้ปกครองในการเลี้ยงดูบุตรที่ตาบอด โดยได้รับบริจาคที่ดินจากบริษัทโค้วยู่ฮะมหาสารคาม จำกัด จำนวน 2 ไร่ ณ เลขที่ 243 หมู่ 3 ตำบลแก่งเลิงจาน อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ต่อมาในปี 2561 ได้ก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นสำนักงาน และได้เปิดใช้อาคารในเดือนสิงหาคม 2561 ปัจจุบันคือศูนย์เรียนรู้การฟื้นฟูสมรรถภาพคนตาบอดโดยชุมชน
ปี พ.ศ. 2531 มูลนิธิได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้เป็นองค์การสถานสาธารณกุศล ลำดับ 174
ปี พ.ศ. 2531 มูลนิธิต้องการขยายการศึกษาไปในเขตอีสานใต้ นางมาลิน คุวานนท์ บริษัทโค้วยู่ฮะมอเตอร์ จำกัด ได้บริจาคที่ดิน จำนวน 7 ไร่ 200 ตารางวา ณ เลขที่ 149 หมู่ 6 ซอยวัชรปาน ถนนมุขมนตรี ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อจัดตั้ง “ศูนย์บริการการศึกษาคนตาบอด นครราชสีมา” และได้รับความช่วยเหลือจากจักษุแพทย์มาร์ติน โคซินสัน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ ดาร์ก แอนด์ ไลท์ (Foundation Dark & Light) ช่วยระดมทุนขอรับบริจาคจากชาวเนเธอร์แลนด์ จำนวนเงินกว่า 7 ล้านบาท ตลอดจนได้รับเงินบริจาคจากประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมา เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารในครั้งนี้ด้วย
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2533 ปัจจุบันคือสำนักงานมูลนิธิ สาขาจังหวัดนครราชสีมาและโรงเรียนการศึกษาคนตาบอด นครราชสีมา เปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล - ประถมศึกษาปีที่ 6 และดูแลนักเรียนเรียนร่วมในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียง เป็นโรงเรียนประจำ ไม่เก็บค่าธรรมเนียมการศึกษา
ปี พ.ศ. 2536 หลวงปู่ศรี มหาวีโร วัดประชาคมวนาราม (วัดป่ากุง) อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด บริจาคที่ดินจำนวน 5 ไร่ ณ เลขที่ 49 หมู่ 10 บ้านสันติสุข ซอยจันโทภาสอุทิศ ถนนราชการดำเนิน ตำบลดงลาน อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด และได้รับเงินบริจาคจากชาวไทยและมูลนิธิ ดาร์ก แอนด์ ไลท์ ประเทศเนเธอร์แลนด์เพื่อจัดตั้งศูนย์การศึกษาและฟื้นฟูสมรรถภาพคนตาบอด จังหวัดร้อยเอ็ด
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2538 และทรงปลูกต้นอินทนิลบกเป็นที่ระลึกในการนี้ ปัจจุบันคือสำนักงานมูลนิธิ สาขาจังหวัดร้อยเอ็ดและโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดร้อยเอ็ด เปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล-มัธยมศึกษาปีที่ 3 และดูแลนักเรียนเรียนร่วมในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดใกล้เคียงเป็นโรงเรียนประจำ ไม่เก็บค่าธรรมเนียมการศึกษา
ปี พ.ศ. 2537 มูลนิธิธรรมิกชนร่วมกับมูลนิธิพิทักษ์ดวงตาลำปางซึ่งดำเนินการจัดการศึกษาร่วมกัน ได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอดลำปางและโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดลำปาง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2540 ต่อมาในปี 2553 มูลนิธิได้โอนให้อยู่ในความรับผิดชอบของมูลนิธิพิทักษ์ดวงตาลำปาง
ปี พ.ศ. 2541 จัดตั้งสำนักงานมูลนิธิ สาขาจังหวัดลพบุรี สืบเนื่องจากบ้านเด็กตาบอดผู้พิการซ้ำซ้อนกรุงเทพมหานคร ที่ทำหน้าที่เตรียมความพร้อมเด็กตาบอดพิการซ้ำซ้อน พบว่าเด็กตาบอดพิการซ้ำซ้อนจำนวนหนึ่งมีพัฒนาการที่ดี สามารถเข้าเรียนในระบบการศึกษาได้ แต่ก็มีเด็กจำนวนกว่า 50 คน ที่มีความพิการซ้ำซ้อนระดับปานกลางถึงรุนแรง และยังเป็นเด็กถูกทอดทิ้งไม่มีพ่อแม่ ไม่สามารถส่งต่อไปที่ใดได้ ทำให้สภาพของบ้านเด็กตาบอดผู้พิการซ้ำซ้อนแออัดและเด็กเหล่านี้เป็นเด็กโต ต้องการการบริการที่เหมาะสมโดยเฉพาะในด้านการฝึกทำงานพื้นฐานอาชีพ จึงจัดตั้งโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดและคนตาบอดพิการซ้ำซ้อนลพบุรีขึ้น โดยนางกุสุมา มินทะขิน ทายาทนายโชติและนางมณี มินทะขิน (วรพิทยุต) ได้บริจาคที่ดินจำนวน 8 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา ณ เลขที่ 3 หมู่ 11 บ้านดงจำปา ตำบลนิคมสร้างตนเอง อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี และเงินบริจาคจากมูลนิธิ ดาร์ก แอนด์ ไลท์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ จำนวน 5.7 ล้านบาท และผู้มีจิตศรัทธาอื่นๆ ร่วมบริจาคสนับสนุนเพื่อการก่อสร้าง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2545 โรงเรียนการศึกษาคนตาบอดและคนตาบอดพิการซ้ำซ้อนลพบุรี เปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล-มัธยมศึกษาปีที่ 3 และดูแลนักเรียนเรียนร่วมในพื้นที่จังหวัดลพบุรีและจังหวัดใกล้เคียง รับนักเรียนตาบอดและนักเรียนตาบอดพิการซ้ำซ้อน เป็นโรงเรียนประจำ ไม่เก็บค่าธรรมเนียมการศึกษา
ปลายปี พ.ศ. 2547 จัดตั้งสำนักงานมูลนิธิ สาขาจังหวัดสงขลา และโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดธรรมสากลหาดใหญ่ โดยได้รับบริจาคที่ดินจากนายถาวร พงศ์ประยูร และครอบครัว จำนวน 4 ไร่ ณ เลขที่ 76 หมู่ 1 ซอยสาธุธรรม ถนนเพชรเกษม 41 ตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พร้อมทั้งเงินบริจาคจำนวน 5 แสนบาท จากคุณนวลศรี สุวรรณประทีป และแพทย์หญิงวัฒนีย์ เย็นจิตร ตลอดจนมีผู้มีจิตศรัทธาท่านอื่นๆ ร่วมสนับสนุนจำนวน 20 ล้านบาท วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งโรงเรียนแห่งนี้ เพื่อให้คนตาบอดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีสถานศึกษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2550 ในการนี้ทรงปลูกต้นสะเดาเทียม ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานประจำจังหวัดสงขลาด้วย ปัจจุบันเปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 6 และดูแลนักเรียนเรียนร่วมในพื้นที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง เป็นโรงเรียนประจำ ไม่เก็บค่าธรรมเนียมการศึกษา
ปี พ.ศ. 2548 จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้รับบริจาคที่ดินจากนางวัชนีย์ อินทจักร จำนวน 12 ไร่ ณ เลขที่ 192 หมู่ 6 บ้านไก่นา ตำบลสำราญ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เพื่อฝึกอบรมวิชาชีพหลักสูตรระยะสั้น เช่น การนวดแผนไทย หัตถกรรม เกษตรกรรม ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตคนพิการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อเรียนจบตามหลักสูตรแล้วสามารถออกไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ ในปี 2557 จัดตั้งโรงเรียนการอาชีพคนตาบอดขอนแก่น ปัจจุบันคือสถาบันส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนตาบอด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และวิทยาลัยอาชีวศึกษาคนตาบอดขอนแก่น โดยวิทยาลัยอาชีวศึกษาคนตาบอดแห่งนี้ เป็นสถานศึกษาด้านอาชีพสำหรับคนตาบอดแห่งแรกของประเทศไทย เปิดสอนหลักสูตรการจัดการสำนักงาน ดนตรี เทคโนโลยี และเกษตรกรรม เปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)
ปี พ.ศ. 2550 จัดตั้งสำนักงานมูลนิธิ สาขาจังหวัดเพชรบุรีและโรงเรียนธรรมิกวิทยา โดยได้รับบริจาคที่ดินจากนายแสวง เอี่ยมองค์ และครอบครัว จำนวน 9 ไร่ ณ เลขที่ 128 หมู่ 1 ตำบลสระพัง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ต่อมาได้จัดซื้อที่ดินเพิ่มอีกจำนวน 47 ไร่ เพื่อดำเนินโครงการสวนป่านานาพันธุ์และส่งเสริมอาชีพเกษตรสำหรับนักเรียน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2552 และพระราชทานชื่อว่า “โรงเรียนธรรมิกวิทยา” หมายถึง “โรงเรียนที่มีซึ่งวิชาความรู้และการประพฤติในความดี” มูลนิธิมีความตั้งใจให้โรงเรียนแห่งนี้เป็น “โรงเรียนการศึกษาวิทยาศาสตร์คนตาบอด” เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล - ประถมศึกษาปีที่ 6 และดูแลนักเรียนเรียนร่วมในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดใกล้เคียง เป็นโรงเรียนประจำ ไม่เก็บค่าธรรมเนียมการศึกษา
ปี พ.ศ. 2552 จัดตั้งสำนักงานมูลนิธิ สาขาจังหวัดนครนายก และศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพคนตาบอดพิการซ้ำซ้อน นครนายก (บ้านรื่นสุข) โดยได้รับบริจาคที่ดินจากนายสุกิจ นางรจนา รื่นสุข จำนวน 5 ไร่ 3 งาน 90 ตารางวา ณ เลขที่ 55 หมู่ 9 ตำบลป่าขะ อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ต่อมามูลนิธิซื้อที่ดินเพิ่มอีกจำนวน 9 ไร่ เพื่อเป็นสถานที่ฝึกอาชีพ ฟื้นฟูสมรรถภาพ และเป็นบ้านพักอาศัยของคนตาบอดพิการซ้ำซ้อน เปิดดำเนินการในปี พ.ศ. 2555 โดยรับคนตาบอดที่ถูกทอดทิ้ง และไม่มีครอบครัวจากโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดและคนตาบอดพิการซ้ำซ้อนลพบุรี
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2557 ในการนี้ทรงปลูกต้นพะยูงเพื่อเป็นสิริมงคล
ปี พ.ศ. 2552 จัดตั้งศูนย์ประสานงานกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันคือ สำนักประสานงานมูลนิธิ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่สำนักงานมูลนิธิ สาขากรุงเทพมหานคร มีภารกิจประสานงานกับภาครัฐและภาคเอกชน ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาระดับอุดมศึกษาของนักศึกษาตาบอด
ปี พ.ศ. 2554 จัดตั้งสำนักหอสมุดเบญญาลัย ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่สำนักงาน สาขาจังหวัดนครราชสีมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธานพิธีเปิดเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ในการนี้ทรงปลูกต้นหมากพร้อมทั้งพระราชทานนามอาคารแห่งนี้ว่า “อาคารเบญญาลัย” ซึ่งหมายความว่า “อาคารแห่งความรอบรู้” มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการให้บริการออนไลน์ด้วยเทคโนโลยีในรูปแบบห้องสมุดออนไลน์ให้ครอบคลุมสำหรับกลุ่มเป้าหมาย อีกทั้งยังรวบรวมความรู้ทางวิชาการที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์สำหรับคนตาบอดทั้งในและต่างประเทศ (ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 เสด็จพระราชดำเนินมายังศูนย์บริการการศึกษาคนตาบอด นครราชสีมาและทรงปลูกต้นสาธรทดแทนต้นหมาก (เดิม)
ปี พ.ศ. 2554 จัดตั้งสำนักงานมูลนิธิ สาขาชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และดำเนินการก่อสร้างโรงเรียนการศึกษาเด็กตาบอดพิการซ้ำซ้อน ชะอำ โดยได้รับบริจาคที่ดินจากคุณกุสุมา บีเค็นน์ (มินทะขิน) จำนวน 10 ไร่ 62 ตารางวา ณ เลขที่ 88 หมู่ 4 บ้านห้วยหิน ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ต่อมามูลนิธิจัดซื้อที่ดินเพิ่ม จำนวน 40 ไร่ เพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมอาชีพสำหรับคนตาบอดพิการซ้ำซ้อนและผู้ดูแล ได้รับงบประมาณจากโครงการทอดผ้าป่ามหากุศล “ปันรักให้น้องตาบอดพิการซ้ำซ้อน” เพื่อระดมทุนก่อสร้างอาคารเรียนและอาคารประกอบ โดยได้รับ
พระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ได้รับเงินบริจาคจำนวน 15,286,877.91 บาท สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2560 โรงเรียนการศึกษาเด็กตาบอดพิการซ้ำซ้อน ชะอำ รับนักเรียนตาบอดพิการซ้ำซ้อนทั่วประเทศ เปิดทำการเรียนการสอนเมื่อปีการศึกษา 2559 รับนักเรียนระดับอนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นโรงเรียนประจำ ไม่เก็บค่าธรรมเนียมการศึกษา
ปี พ.ศ. 2556 จัดตั้งสำนักงานมูลนิธิ สาขาจังหวัดเชียงราย และดำเนินการก่อสร้างโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดแม่สาย บนพื้นที่ 50 ไร่ 1 งาน 77 ตารางวา ณ เลขที่ 261 หมู่ 5 ตำบลศรีเมืองชุม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ทั้งนี้ได้รับงบประมาณจากการทอดผ้าป่าสามัคคีมหากุศล “ปันรักให้เด็กตาบอดภาคเหนือตอนบน” เพื่อระดมทุนก่อสร้างอาคารเรียนและอาคารประกอบ โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ได้รับเงินบริจาคจำนวน 14 ล้านบาท และพระกรุณาประทานชื่ออาคารเรียนว่า “อาคารสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก” โดยจัดสรรพื้นที่จำนวน 10 ไร่ เป็นโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดแม่สาย ส่วนพื้นที่ที่เหลือดำเนินโครงการฝึกอาชีพสำหรับคนตาบอดและผู้ดูแล สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561 ในการนี้ทรงปลูกต้นมะขามป้อมพระราชทาน โรงเรียนการศึกษาคนตาบอดแม่สายเปิดทำการเรียนการสอนปีการศึกษา 2559 รับนักเรียนระดับอนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ 6 และดูแลนักเรียนในโครงการเรียนร่วมของจังหวัดเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียง เป็นโรงเรียนประจำ ไม่เก็บค่าธรรมเนียมการศึกษา
ปี พ.ศ. 2559 จัดตั้งศูนย์บริการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อคนตาบอด (Information Technology Services Center for The Blind: ITSCB) ขึ้น บนพื้นที่สำนักงาน สาขากรุงเทพมหานคร โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก THE LIPOID STIFTUNG FOUNDATION ประเทศเยอรมนี เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของมูลนิธิให้การดำเนินงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเกิดประโยชน์สูงสุดต่อกลุ่มเป้าหมาย ตามวิสัยทัศน์ที่ว่า “พัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ นวัตกรรม งานวิจัยสำหรับคนตาบอด ยกระดับศักยภาพด้าน ICT เพื่อความเท่าเทียม” โดยเชื่อว่าคนตาบอดสามารถพัฒนาได้เมื่อได้รับโอกาส และการพัฒนาอย่างถูกวิธี ต่อมาในปี 2563 มูลนิธิได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 คณะกรรมการมูลนิธิจึงมีมติให้ควบรวมหน่วยงานในสังกัด โดยให้ภารกิจงานของศูนย์บริการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อคนตาบอดอยู่ในกำกับของสำนักหอสมุดเบญญาลัย
-----------------------------------14
ปี พ.ศ. 2559 จัดตั้งสำนักสร้างเสริมการจ้างงานคนตาบอด เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้บริการข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของคนพิการ เรียกร้องสิทธิ ให้ความช่วยเหลือในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน พร้อมจัดหางานให้คนพิการทางการเห็น ด้วยการประสาน คัดกรอง ส่งต่อ และให้การช่วยเหลือด้านการมีงานทำอย่างถูกต้องและเหมาะสม ทั้งยังช่วยในเรื่องของการฟื้นฟู พัฒนาทักษะอาชีพและการมีงานทำ แสวงหาความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนการมีงานทำของคนตาบอดทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ติดตาม ประเมิน รายงานผลด้านการจ้างงานและการมีงานทำ โดยได้บันทึกข้อตกลงร่วมกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เพื่อจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ AIS Call Center ด้วยผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 คณะกรรมการมีมติควบรวมหน่วยงานในสังกัดมูลนิธิ โดยให้ภารกิจงานของสำนักสร้างเสริมการจ้างงานคนตาบอด อยู่ในกำกับของสำนักงานใหญ่ ภายใต้ศูนย์บริการคนพิการมูลนิธิ (สำนักงานใหญ่) จากการควบรวมหน่วยงานจึงทำให้ในปี 2564 มูลนิธิมีหน่วยงานในสังกัดจำนวน 27 หน่วยงาน
ปี พ.ศ. 2564 คณะกรรมการมูลนิธิ มีมติให้ก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ที่สำนักงานสาขากรุงเทพมหานคร ซึ่งได้จัดกิจกรรมทอดผ้าป่าเพื่อระดมทุน ก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์หลังนี้ เพื่อให้นักเรียนตาบอดพิการซ้ำซ้อนได้ใช้เป็นอาคารเรียน ฝึกอาชีพ และเป็นห้องพัก ห้องประชุม สำหรับกิจกรรมที่มูลนิธิจัดขึ้น
ปี พ.ศ. 2565 มูลนิธิมีนโยบายปรับโครงสร้างหน่วยงาน เพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงมีมติให้ยุบสำนักประสานงานมูลนิธิ โดยให้โอนย้ายภารกิจงานของสำนักประสานงานมูลนิธิให้อยู่ในการกำกับของสำนักงานมูลนิธิ สาขากรุงเทพมหานคร ดังนั้นในปี 2565

มูลนิธิได้มีหน่วยงานในสังกัด จำนวน 26 หน่วยงาน

  • ฮิต: 159